วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

เรียนอภิธรรม


เรียนพระอภิธรรม

เรียนฟรีตลอดหลักสูตร

โดย

อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ร่วมกับ

มูลนิธิเผยแพร่พระสัทธรรม



วัตถุประสงค์
  เพื่อรักษาหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป
  ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่ต้องการศึกษาพระอภิธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีเวลาน้อย ไม่สามารถที่จะไปเรียนในสำนักเรียนใดหรือผู้ที่มีเวลาน้อย ไม่สามารถที่จะไปเรียนในสำนักเรียนได้หรือผู้ที่อยู่ห่างไกลจากสำนักเรียน ให้มีโอกาสได้ศึกษาพระอภิธรรมด้วยตนเองทางไพรษณีย์

  เพื่อเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนของพระอภิธรรมปิฏก ให้แพร่หลายสู่สาธุชนทั่วไป อันจะยังประโยชน์ให้ผู้สนใจศึกษา เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของชีวิตและรู้แนวทางการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์ตามพุทธประสงค์

พระอภิธรรมคืออะไร
หลังจากที่สมเด็จสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลายาวนานถึง  45  พรรษา  คำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ทั้งหมดรวบรวมได้ 84,000 พระธรรมขันธ์  เรียกว่า  พระไตรปิฏก ซึ่งบรรจุคำสอนและเรื่องราวของพระพุทธศาสนาไว้โดยละเอียด  แบ่งออกเป็น 3 ปิฏกด้วยกันคือ

1.พระวินัยปิฏก
2. พระสุตันตปิฏก
3. พระอภิธรรมปิฏก
พระวินัยปิฏก  หรือ  เรียกสั้นๆ  ว่า  พระวินัย  เป็นปีฏก  ที่กล่าวถึงศีลหรือสิกขาบท  (บทบัญญัติ)  ตลอดจนพิธีกรรมและ ธรรมเนียมของสงฆ์  อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษ์สงฆ์ และภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา  มีทั้งสิ้น 21,000 พระธรรมขันธ์
พระสุตตันตปิฏก  หรือเรียกสั้นๆ ว่า  พระสูตร  เป็นปิฏกที่ประมวลพระธรรมเทศนา  คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ  อันยังเยื้องตามบุคคล  และโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร  คือยกสัตว์  บุคคล กษัตริย์  เทวดา เป็นต้นมา  แสดง  มีคำสอนทั้งสิ้น  21,000 พระธรรมขันธ์
พระอภิธรรมปิฏก  หรือเรียกสั้นๆ  ว่า  พระอภิธรรม ว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรม  4  ประการ  อันได้แก่จิต  เจตสิก รูป และนิพพาน  พระอภิธรรมเปรียบเสมือนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามีเนื้อหาสุขุมลึกอันนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของชีวิต  เรื่องของกรรม  และการส่งผลของกรรม เรื่องภพภูมิต่างๆ  เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา  มีคำสอนทั้งสิ้น  42,000 พระธรรมขันธ์
หากแปลตามศัพท์  คำว่า  อภิธัมม หรือ  อภิธรรม แปลว่า  ธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันยิ่ง ธรรมที่มีอยู่แท้จริง  โดยปราศจากสมมุติ  เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมดจะกล่าวถึง  ปรมัตถธรรม  อันเป็นธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอนที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมที่ปฏิบัติเสธความเป็นสัตว์  ความเป็นบุคคล  ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง

เนื้อหาโดยสังเขปของหลักสูตร
หลักสูตรนี้จะศึกษาเนื้อหาของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ  ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่สรุปเนื้อหาของพระอภิธรรมปิฏก ไว้เป็นหมวดหมู่และง่ายต่อการศึกษา  ซึ่งพระอนุรุทธาจารย์  พระเถระชาวอินเดีย  ผู้แตกฉานในพระไตรปิฏกได้รจนาไว้เมื่อประมาณปี  พ.ศ. 1530
การศึกษาตามหลักสูตรนี้จะแบ่งเป็น  3 ระดับ  ดังนี้
ระดับต้น  มีบทเรียนทั้งหมด  5 ชุด  คือ 
ชุดที่  1  แสดงเรื่อง  พระอภิธรรมคืออะไร,  ประวัติความเป็นมาของพระอภิธรรม, ความหมายของปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรมสาระน่ารู้อื่นๆ   เกี่ยวกับพระอภิธรรม
ชุดที่  2  แสดงเรื่องชีวิตคืออะไร, องค์ประกอบของชีวิต,  ขันธ์  5,รูปกับนาม, จิตกับอารมณ์,  ลักษณะของจิต และการทำงานของจิต, บุญบาปเกิดขึ้นได้อย่างไร, ที่เกิดของจิตและอำนาจจิต
ชุดที่ 3    แสดงเรื่องจิตประเภทต่างๆ,  หน้าที่ของจิต  14 ประการและวิถีจิต
ชุดที่ 4    แสดงเรื่องธรรมชาติที่ประกอบปรุงแต่งจิต  (เจตสิก)
ชุดที่ 5    แสดงเรื่องรูปที่เป็นองค์ประกอบของร่างกายโดยละเอียก
ระดับกลาง   มีบทเรียนทั้งหมด  3  ชุด  คือ
ชุดที่  1  แสดงเรื่องชีวิตมาจากไหน,  ชาติหน้ามีจริงหรือไม่  และเรื่องภพภูมิต่างๆ  ทั้ง  31 ภูมิ
ชุดที่  2  แสดงเรื่องกรรมประเภทต่างๆ  และการส่งผลของกรรม
ชุดที่  3  แสดงเรื่องกุศล, อกุศล, มิสสกสังคหะ 7, โพธิปักขิยธรรม  37  ประการ  ซึ่งประกอบด้วยสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4  อิทธิบาท  4  อินทรีย์ 5  พละ 4  โพชฌงค์ 7  มรรค  8  และสัพพสังคหะซึ่งประกอบด้วยเรื่องของ ขันธ์ 5 อายตนะ  12 ธาตุ  18 อินทรีย์ 22 อริสัจ 4 และ  ธรรมที่เป็นเหตุ  เป็นปัจจัยในการเวียนว่ายตายเกิด (ปฏิจจสมุปบาท)
ระดังสูง  มีบทเรียนทั้งหมด  2  ชุด  คือ
ชุดที่  1   แสดงเรื่องสมถกรรมฐาน  (การทำสมาธิ) ทั้ง 40 วิธี, รูปฌาน, อรูปฌาน, และอภิญญา
ชุดที่  2   แสดงเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน,  วิปัสสนาภูมิ  6,  วิสุทธิ 7, วิปัสสนาญาณ 16, โลกุตธรรม 9
รูปแบบการเรียน
๏ นักศึกษาที่สมัครเรียน  จะได้รับแจกเอกสารประกอบการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
๏ เอกสารประกอบการศึกษานี้จะแจกให้ทีละชุด   เมื่อนักศึกษาตอบคำถามชุดที่ 1  แล้ว  จะได้บทเรียนชุดที่  2  เมื่อตอบคำถามชุดที่  2  แล้ว  จะได้บทเรียนชุดที่  3  ต่อไปเรียนๆ
๏ เมื่อผู้เรียนตอบคำถามท้ายชุดบทเรียนครบทุกชุด  และมีคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า  60% จะได้รับวุฒิบัตรตามระดับชั้นที่กำลังศึกษาอยู่
๏ ไม่จำกัดระยะเวลาในการศึกษา
๏ ไม่จำกัดพื้นความรู้
๏ เรียนฟรีตลอดหลักสูตร
ประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรม
  จะเข้าใจเรื่อง  “บัญญัติธรรม”  และ  “ปรมัตถธรรม”  อย่างชัดเจน
 จะเข้าใจธรรมชาติของชีวิต  และการทำงานของขันธ์  5  ซึ่งประกอบด้วย  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และ วิญญาณว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงสภาวะที่ปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น  มิใช่เป็นสัตว์  มิใช่เป็นบุคคล มิใช่เป็นเรา  มิใช่เป็นเขา  ตามที่หลงผิดกัน
 จะตัดสินได้ด้วยตนเองว่าอะไรเป็น  “บุญ”  อะไรเป็น  “บาป”
  จะมีความเข้าใจในเรื่องการทำบุญมากขึ้น   รู้ว่าจะต้องทำบุญอย่างไรจึงจะได้รับอานิสงส์สูงสุด
  จะทราบว่า  บุญ-บาป  ที่ทำไปแล้ว   กลับมาส่งผลได้อย่างไรทำไมคนเราจึงเกิดมาแตกต่างกัน
  จะทราบว่าตายแล้วไปไหน  ชาติหน้ามีจริงหรือไม่  นรก  สวรรค์  อยู่ที่ไหน
  จะเข้าใจ เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม
  จะเข้าใจความแตกต่างของ  “สมถกรรมฐาน”  และ “วิปัสสนากรรมฐาน”
  จะเข้าใจเรื่อง มรรค  ผล  นิพพาน  อย่างแท้จริง
  จะได้ทราบหลักธรรมอันเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตอีกมากมาย
วุฒิบัตรที่ได้รับ
                ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรแต่ละระดับจะได้รับวุฒิบัติ อภิธัมมัตถสังคหะทางไปรษณีย์  ตามระดับชั้นที่เรียน  ซึ่งมี  3  ระดับคือ  ระดับต้น  ระดับกลาง  และระดับสูง
                สำหรับผู้ที่เรียนจบหลักสูตรระดับสูง  นอกจากจะได้รับวุฒิบัตรของมูลนิธิเผยแผ่พระสัทธรรมแล้วยังจะได้รับวุฒิบัตรอภิธัมมัตถสังคหะทางไปรษณีย์  จากอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย  ซึ่งเป็นสำนักเรียนพระอภิธรรมในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่งด้วย



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

มูลนิธิเผยแผ่พระสัทธรรม

5/108 ซอยบรมราชชนนี 13  ถนนบรมราชชนนี  แขวงอรุณอมรินทร์  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพฯ  10700

โทรศัพท์ : 02-8845091-2  โทรสาร : 02-8845090

หายต้องการเรียนพระอภิธรรมทางอินเทอร์เน็ต

สามารถสมัคร  online  แล้วเริ่มเรียนได้ทันทีที่

เข้าเวปนี้-http://www.buddhism-online.org


                                                                      ใบสมัคร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มาคุณกัน